คำว่า “เซลฟี (Selfie)” แท้จริงแล้วไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ แต่หมายถึงการถ่ายรูปตัวเองแล้วอัปโหลดรูปนั้นผ่านทางเครือข่ายออนไลน์
ซึ่งนักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะบอกว่าถือเป็นเรื่องที่ทำปกติ ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ผิดแปลกอะไร
แต่เมื่อใดก็ตามที่พฤติกรรม “เซลฟี” กลายเป็น “เสพติดเซลฟี” ความบันเทิงก็จะกลายเป็นโทษทันที
“คนที่มีพฤติกรรมเสพติดแบบนี้ สามารถพิจารณาดูได้ง่ายๆ เลยคือ
1.ทุกครั้งที่โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย จะมีแต่รูปตัวคุณเองเท่านั้น
2.ทุกครั้งที่โพสต์จะพยายามหามุมที่คิดว่าตัวเองดูดีที่สุด จะนำเสนอเพียงแค่บุคลิกบ้างด้านของตัวเองเท่านั้น
นอกนั้นจะไม่ยอมลงภาพเลย ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพราะปกติแล้วคนเราเวลาถ่ายภาพ
หรือให้คนอื่นถ่ายให้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีหน้าในหลายๆ มุมปนกันไป
3.หลังจากแต่งรูปและโพสต์ลงไปแล้ว จะมีอาการใจจดใจจ่อ เฝ้ารอการกดไลค์ การคอมเมนต์จากเพื่อนๆ
4.คอมเมนต์เหล่านั้นส่งผลให้มีความสุข หรือถ้ามีคนคอมเมนต์ไปในทางที่ไม่ดี จะเก็บเอาคำพูดเหล่านั้นไปวิตกจริต
ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมของคนเสพติดเซลฟี ซึ่งส่งผลให้หลายๆ คนก้าวเข้าไปสู่พฤติกรรมข้อต่อไปคือ
5.เซลฟีในสถานที่ที่อันตราย ข้อนี้สังคมอเมริกาจะเป็นกันเยอะ เช่น มีการเซลฟีบนตึกสูง
ยอมเสี่ยงตายหรือถ่ายคู่กับสถานการณ์ระทึกใจ เช่น เข้าบ้านผีสิง มีแม้กระทั่งถ่ายตัวเองกับภาพเหตุการณ์
คนกำลังจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ฯลฯ จนทำให้เกิดฟีดแบ็กประณามกลับมายังคนที่เซลฟีในหลายๆ ครั้ง
มีเด็กชายชาวอังกฤษอายุ 11 ขวบ เขาเสพติดเซลฟีมาก หมกมุ่นกับการถ่ายเซลฟีให้ออกมาให้ดีที่สุดกระทั่งไปยอมไปโรงเรียน
ใช้เวลาถึง 7-8 ชั่วโมงต่อวันเพื่อหามุม หาโลเกชันเพื่อให้ได้รูปเซลฟีที่ดีที่สุด เด็กคนนี้ต้องตกอยู่ในอาการกังวลใจ
เพราะถ่ายเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีรูปเซลฟีที่ดีที่สุดซักที พอหนักๆ เข้าก็เอาแต่ถ่ายจนไม่ไปโรงเรียน
ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าจนพยายามฆ่าตัวตาย
นี่คือตัวอย่างของคนเป็นโรคจิตเสพติดเซลฟี เรียกว่าเป็นโรค Narcissistic หรือโรคหลงตัวเอง
ถือเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของคนสมัยนี้ครับ คือไม่ใช่แค่เซลฟีแต่พยายามบอกเล่าเรื่องราวตัวเอง
จนทำให้กลายเป็นคนที่หลงตัวเองมากขึ้น อาจเป็นผลมาจากการเป็นคนที่ภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ
เลยต้องใช้เซลฟีเข้ามาเป็นกิจกรรมในการสร้างตัวตน สร้างความแปลกแตกต่าง
จนนำไปสู่การเซลฟีดึงดูดความสนใจด้วยสถานที่อันตรายต่างๆ นานา เช่น เซลฟีที่ยอดตึกสูง,
สถานที่ต้องห้าม, เหตุการณ์ชวนขนหัวลุก แบบนี้จะเรียกว่าเป็นพวก “Danger Selfie”
จะชอบเซลฟีสิ่งผิดปกติไปจากชีวิตจริง ซึ่งกลุ่มนี้แหละที่จะมีความเสี่ยงสูง และเท่าที่ติดตามข่าวมาก็พบว่า
หลายรายเสียชีวิตเพราะเซลฟีแบบนี้
ตอนนี้ ยังไม่มีตัวเลขระบุแน่ชัดนะครับว่าเซลฟีแบบไหนที่เรียกว่ามากเกินไป แต่ถ้าทุกครั้งที่ถ่ายรูปแล้วมีแต่รูปเซลฟี
แสดงว่าเราเริ่มที่จะหลงตัวเองละ และทุกๆ ครั้งที่เราโพสต์รูปเซลฟีและเริ่มมีอาการเฝ้ารอเฝ้าคอยอย่างใจจดใจจ่อ
แสดงว่าเริ่มมีอาการเสพติดเซลฟี เสพติดไลค์ เสพติดความคิดเห็น และถ้าความคิดเห็นเหล่านั้นทำให้รู้สึกดีใจมากขึ้น
หรือถูกต้องมากขึ้นต่อความคิดเห็นที่คนอื่นแสดงออกต่อรูปเรา แสดงว่าเรามีอาการหนักตรงที่ถือเอาความคิดเห็นตรงนั้น
เป็นเรื่องจริงจังมากเกินไป บางคนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าเลยนะครับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของวัยรุ่นไทยตอนนี้เลย อาการเสพติดยอดไลค์ เวลามีคนไลค์เยอะๆ จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ
ซึ่งเป็นเรื่องที่หลอกลวงมากเพราะในโลกของโซเชียลมีเดียมันง่ายมากที่จะกดไลค์ เทียบกับการได้รับการยอมรับในชีวิตจริงแล้ว
มันคนละเรื่องกันเลย หลายคนถือเอายอดไลค์เป็นเครื่องชี้วัดการยอมรับตัวตนทางสังคมซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดมากๆ
เพราะการสร้างสถานภาพทางสังคมยังทำได้อีกหลากหลายวิธี”