เตือนมนุษย์เงินเดือนฮิตเข้าฟิตเนสตอนกลางคืน เหตุไม่มีเวลาออกกำลังกายช่วงอื่น ระวังร่างกายไม่ได้พักผ่อน นักวิชาการชี้เป็นช่วงร่างกายหลั่งฮอร์โมนซ่อมแซมส่วนสึกหรอ แต่กลับต้องมาออกแรง แนะมีกิจกรรมทางกายระหว่างทำงาน เดินทาง และงานบ้านแทน ย้ำสูตรลดอ้วนในเน็ตไม่ได้ผลกับทุกคน ควรศึกษาหาความรู้ก่อน
นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กรมอนามัย กล่าวถึงกรณีคนนิยมเข้าฟิตเนสเพื่อมาออกกำลังกายตอนกลางคืนมากขึ้น เนื่องจากไม่มีเวลาในช่วงอื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานและมนุษย์เงินเดือน ว่า การออกกำลังกายถือว่าดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะออกกำลังกายช่วงเวลาไหนก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ออกกำลังกาย แต่การออกกำลังกายแต่ละช่วงเวลาจะให้ผลไม่เท่ากัน แม้จะออกกำลังกายด้วยความหนักเท่ากันและใช้เวลาเท่ากันก็ตาม เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง 30 นาที ในช่วงตีห้ากับช่วงห้าโมงเย็น การดึงพลังงานมาเผาผลาญก็จะไม่เท่ากัน โดยออกกำลังกายในช่วงเช้าจะเผาผลาญได้ดีกว่า เพียงแต่ต้องระมัดระวังอย่าให้เหนื่อยเกินไป เพราะตลอดทั้งวันยังต้องทำงาน อาจจะทำให้เกิดอาการซึม หรือง่วงระหว่างวันได้ ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน
สำหรับการออกกำลังกายช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะหลัง 21.00 น. เป็นต้นไป สามารถทำได้ แต่บางคนอาจมีผลกระทบ เนื่องจากช่วงเวลา 22.00-23.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่งโกรว์ธฮอร์โมนออกมา เพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ หากมาออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงนี้ร่างกายก็จะยิ่งได้ไม่ได้พักผ่อน อย่างไรก็ตาม ร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด หรือหากออกกำลังกายแค่พอดีๆ ไม่หนักเกินไปก็สามารถทำได้ สำหรับคนที่ไม่ออกกำลังกายโดยมักอ้างว่าไม่มีเวลา จริงๆ แล้วสามารถทำได้ โดยอาศัยกิจกรรมทางกายแทน โดยแฝงไปกับ 1.การทำงานประกอบอาชีพ เช่น เดินให้มากขึ้น แทนที่จะนั่งอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ 2.การทำงานบ้าน เช่น ขัดพื้น ถูบ้าน 3.การเดินทาง เช่น อาศัยการเดินเท้าเข้าออฟฟิศแทนการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ และ 4.ยามว่าง
"ที่สำคัญคือขอให้อย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง โดยการออกกำลังกายควรมีลักษณะทำให้เหนื่อยปานกลาง คือ หายใจเร็วขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย สามารถพูดคุยได้โดยไม่หยุดหอบ วันละ 30 นาที หรือ วันละ 3 ครั้งๆ ละ 10 นาทีก็ได้ ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างการเดินเข้าออฟฟิศก็อาจจะเป็นการเดินเร็ว เพื่อให้รู้สึกเหนื่อย แทนที่จะเดินทอดน่องธรรมดา เป็นต้น