ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ 2541
ตรวจสอบแทรคไปรษณีย์ไทย
domain register Admin Only
ทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ต
ตรวจสอบไอพี(IP check for locate)
เทคโนโลยีระบบ 3G (Third Generation Mobile Network) หรือมาตรฐานโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 กำลังกลายเป็นเรื่องสิ้นหวังสำหรับประเทศไทย เนื่องจากมีปัญหาติดขัดมาโดยตลอด แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนจะมีความพยายาม นำมาพัฒนาระบบโทรศัพท์มือถือใน ปัจจุบัน
เวลานี้ หากเปรียบเทียบระบบโทรคมนาคมของประเทศไทยกับนานาประเทศ ก็นับว่าเป็นการพัฒนาที่ค่อนข้างล่าช้า ทั้งที่เทคโนโลยี 3G ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2544 โดย NTT DoCoMo ประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันเทคโนโลยี 3 G ได้รับการพัฒนาให้เป็นฐานสำหรับการก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยี 4 G ความล่าช้าของระบบ 3G ในประเทศเราทุกวันนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ระหว่างการปรับตัวของภาคเอกชน หรือต้นทุนการพัฒนาระบบที่สูงจนไม่คุ้มทุน หรือจากภาครัฐที่กฎระเบียบและข้อจำกัดที่เข้มงวด รวมทั้งการให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนในการรื้อปรับนโยบายครั้งแล้วครั้งเล่า หรือรอความชัดเจน ในการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ให้เสร็จภายใน 180 วัน หลังจากที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาเสียก่อน เมื่อเกิดความล่าช้าอย่างไม่ปกติอย่างนี้ จึงไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปถึงเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจหลายแง่มุม แบ่งกันไม่ลงตัวบ้าง กีดกันบริษัทโทรศัพท์มือถือบางรายไม่ให้ชนะการประมูลบ้าง หน่วยงานของรัฐทำผิดกฎหมายบ้าง การเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางกลุ่มบ้าง
ไม่ว่าจะมาสาเหตุใดก็ตาม แต่เชื่อว่า หลายปัจจัยมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเปิดใช้ระบบ 3G ประสบปัญหามาตลอด และผลของความล่าช้า ก็ทำให้โดยรวมของประเทศเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ไปอย่างมาก หากตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ระบบ 3G มีความจำเป็นต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ผมเข้าไปหาคำตอบส่วนหนึ่งได้จากรายงาน World in 2010 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunication Union (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่ติดตามดูแลการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของโลก และเป็นผู้วางมาตรฐานโทรศัพท์ระบบ 3 G พบว่า สิ้นปี 2553 มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 739 ล้านคนในปี 2543 เป็น 5,282 ล้านคนในปี 2553 ลงไปในรายละเอียด ก็พบว่า ผู้คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่เป็นคนในประเทศกำลังพัฒนาถึง 3,845.8 ล้านคน ส่วนคนในประเทศพัฒนาแล้ว 1,435.9 ล้านคน ในจำนวน 5,282 ล้านคนนี้ มีคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ 3G เพียง 940 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังมีสัดส่วนไม่มากนัก แค่ 17% เท่านั้น แต่อัตราการเติบโตของโทรศัพท์ 3G กลับมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูจากข้อมูลในปี 2550 มีเพียง 95 ประเทศเท่านั้นที่ใช้ระบบ 3G แต่เพียงแค่ 3 ปีให้หลัง คือในปี 2553 ประเทศที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ 3G ได้เพิ่มขึ้นเป็น 143 ประเทศ ที่น่าสนใจคือ มีบางประเทศได้ก้าวเข้าสู่การให้บริการ 4G ไปแล้ว เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ยูเครน และสหรัฐ เมื่อดูจากแนวโน้มของเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยของสังคมข้อมูลข่าวสาร คงปฏิเสธได้ยากว่า การพัฒนาไปสู่ระบบ 3G มีความสำคัญเทียบเท่าการสร้างถนน สร้างสะพาน ทางรถไฟ เพราะเป็นการพัฒนา "โครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร" ที่จำเป็นของประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ 3G สามารถให้บริการได้ไม่จำกัดเพียงแค่เสียง หรือ Non-Voice Service แต่มีรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่สามารถสร้างขึ้นบนเครือข่ายในยุคตระกูล 2G ได้ ทั้งการรับส่งข้อมูลข่าวสารจำนวนมากๆ เช่น การดู TV ผ่านโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าผ่านระบบมือถือ ไปจนถึงบริการ Video Telephony และ Video Conference ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบเห็นหน้าค่าตากัน เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถสร้างธุรกิจต่อเนื่องได้อีกมากมาย รวมไปถึงการนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการใช้ระบบ 3G เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอน หรือการเข้าถึงแพทย์ผ่านระบบ VDO conference ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือแก้ไขกันอยู่ สำหรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในยุคนี้ ก็เปรียบเสมือน ในอดีตที่ทั่วโลกเปลี่ยนจากทีวีขาว-ดำ มาเป็น ทีวีสี ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนเองจะต้องคำนวณต้นทุนและความคุ้มทุนเองว่าควรจะปรับเทคโนโลยีมาใช้กับทีวีสีหรือไม่ และเมื่อไหร่ แต่ในกรณี 3G ของประเทศไทยนี้ ปัญหาของภาครัฐก็คือ ไม่ได้เตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปไกลมาก และมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งภาครัฐทุกวันนี้ ดูเหมือนต้องพึ่งพาภาคเอกชนให้เป็นผู้ชี้นำนโยบาย จนในที่สุดก็กลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ และยากต่อการแก้ไข ปล.จากผู้เขียน 1.ในกรณีนี้้ไม่ทราบว่าเป็นวิกฤติ หรือโอกาส ของประเทศไทย เพราะมองไปที่ลาวและเวียตนามแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับสังคมบ้าง วัยรุ่นมั่วสุมเรื่องเพศ ผ่านระบบ 3G มากมาย 2.ว่าไปแล้วระบบที่เราใช้อยู่ก็พอใช้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องโหลดแรง เร็ว ขนาดนั้น อย่าลืมนะ ยิ่งแรง ยิ่งต้องจ่ายแรงตามด้วย คุณพร้อมจ่ายหรือยัง