บทความ:
นักวิทย์รุ่นเยาว์ทำโครงงานวิทยา ศาสตร์ สกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกพญาสัตบรรณ ทดลองกับยุง พบยุงบินหนี เตรียมศึกษาเชิงลึก หวังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติไล่ยุง เพื่อช่วยลดสถิติโรคไข้เลือดออก-มาลาเรีย

ภาพผู้ทำงานโครงงานนี้
“นายเจษฎา ตั้งมงคลสุข” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี ในฐานะนักศึกษาโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Ju-nior Science Talent Project : JSTP)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ได้ทำโครงงานวิจัย เรื่อง “ผลของการสกัดหยาบและส่วนสกัดของดอกพญาสัตบรรณที่มีต่อพฤติกรรมยุง” โดยมี ผศ.ดร.จงกลณี จงอร่ามเรือง ภาควิชาเคมี และอาจารย์เบญจวรรณ ชิวปรีชา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยจุดเริ่มต้นความสนใจมาจากการสังเกตพบว่า ภายในหอพักของโรงเรียนมีการปลูกต้นพญาสัตบรรณจำนวนมาก และในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ โดยในช่วงเวลากลางคืน หากนั่งบริเวณใต้ต้นพญาสัตบรรณจะพบยุงรำคาญน้อยกว่าบริเวณอื่นมาก จึงตั้งสมมุติฐานว่ากลิ่นหอมฉุนของดอกพญาสัตบรรณอาจมีผลต่อการไล่ยุงได้
ในงานวิจัยได้ทดลองสกัดน้ำมันหอมระเหยในดอกพญาสัตบรรณนำมาทำการทดลองกับยุงรำคาญ โดยเริ่มจากการเตรียมตัวอย่าง เก็บดอกพญาสัตบรรณที่สมบูรณ์ นำไปล้างน้ำเพื่อขจัดสิ่งสกปรก แล้วนำไปอบแห้งในตู้อบ ช่วงอุณหภูมิประมาณ 40-55 องศาเซลเซียส จากนั้นนำดอกพญาสัตบรรณที่อบแห้งไปปั่นละเอียดด้วยเครื่องปั่น เพื่อนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย
ซึ่งในการทดลองเลือกใช้วิธีสกัด 2 วิธี คือ 1. การกลั่นโดยใช้น้ำ และ 2. การสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์แบบต่อเนื่องโดยใช้อุปกรณ์ซอคเล็ท
เมื่อได้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยแล้ว จึงนำไปทดสอบกับยุงรำคาญ โดยนำยุงรำคาญจำนวน 40 ตัว ใส่ลงไปในตู้กระจกอะคริลิกใสลูกบาศก์ ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร สังเกตพฤติกรรมในช่วงแรก จากนั้นจึงนำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกพญาสัตบรรณใส่ลงไป พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของยุง
นายเจษฎา บอกว่า ผลการทดลองพบว่า สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกพญาสัตบรรณที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์แบบต่อเนื่อง โดยใช้อุปกรณ์ซอคเล็ท จะให้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นและกลิ่นฉุนมากกว่า เมื่อนำลงไปหยดในกล่องอะคริลิกที่บรรจุยุงรำคาญไว้พบว่า ยุงรำคาญมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างผิดสังเกต โดยมีการเคลื่อนที่เร็วขึ้น และพยายามบินหาทางออก
ทั้งนี้ปัจจุบันยังทำการทดลองขนาดเล็ก แต่ในเบื้องต้นก็สรุปได้ว่า สารหอมระเหยในดอกพญาสัตบรรณน่าจะมีผลต่อการไล่ยุง ขั้นตอนในงานวิจัยต่อไปอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกว่าสารที่ออกฤทธิ์ไล่ยุงของดอกพญาสัตบรรณคือสารใด และเพราะเหตุใดจึงสามารถไล่ยุงได้
“หากเราพบสารที่มีคุณสมบัติไล่ยุงในดอกพญาสัตบรรณ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากธรรมชาติได้ เพื่อลดสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรจากยุง เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มียุงจำนวนมาก และยุงเป็นพาหะนำโรคชนิดหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ อีกทั้งส่งผลให้มีประชากรโดยเฉพาะเด็กเล็กเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ” นายเจษฎากล่าว.
ที่มา ข่าวจากเดลินิวส์ 15 สิงหาคม 2554
มาดูรายละเอียดต่อไป
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ชื่อสามัญ Devil Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris
ตระกูล APOCYNACEAE
ชื่ออื่น ตีนเป็ดไทย
ลักษณะทั่วไป
พญาสัตบรรณเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 12-20 เมตรผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็กๆสีขาวปนน้ำตาลกรีดดูจะมียางสีขาว ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้น ๆ ใบออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5-7 ใบ ก้านใบสั้น ใบสีเขียวถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาวลักษณะใบยาวรีปลายใบมนโคนใบแหลมขนาดใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้นดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่มดอกมีสีขาวอมเหลืองผลเป็นฝักยาว ลักษณะเป็นเส้นๆ มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลมได้ ในฝักมีเมล็ดเล็กๆ ติดอยู่กับขุยนั้น
การเป็นมงคล
คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเกียรติเพราะพญาสัตบรรณหรือฉัตรบรรณคือเครื่องสูงที่ใช้ในขบวนแห่เป็นเกียรติยศ และ พญา ก็คือ ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่อง เคารพนับถือ ดังนั้นพญาสัตบรรณจึงเป็นไม้มงคลนาม นอกจากนี้การเจริญเติบโตของทรงพุ่มมีลักษณะคล้ายกับฉัตรคือเป็นชั้นๆ และยังมีความเชื่ออีกว่าบ้านใดปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไปเพราะสัตคือสิ่งที่ดีงามมีคุณธรรมดังนั้นจึงเป็นที่เคารพนับถือและยก
ย่องของคนทั่วไป
ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัยควรปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ทางทิศเหนือผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ถ้าให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก
การปลูก
นิยมปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ควรห่างจากบ้านพอสมควรเพราะเมื่อมีอายุมาก ขนาดทรงพุ่มจะสูงใหญ่ ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก
การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
ดิน ชอบดินร่วนซุย
ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2: 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง
การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด และการปักชำ
โรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรู เพราะมีความทนทานสภาพธรรมชาติได้ดี

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ตีนเป็ด เป็นไม้พื้นบ้านของไทย จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae พันธุ์ไม้วงศ์นี้มีทั้ง ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก และจำนวนมากที่เป็นเถา กระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อน ทั่วโลก และเป็น ไม้ประดับที่นิยมปลูกกันมาก เช่น ยี่โถ รำเพย พังพวยฝรั่ง เป็นต้น ลักษณะเด่นของพันธุ์ไม้วงศ์นี้ สังเกตได้ง่ายจากน้ำยางสีขาว ใบแบบขึ้นตรงกันข้ามหรือเป็นวงรอบ กิ่งดอกตูม ซึ่งมีกลีบดอกเวียนซ้อนทับไปทางเดียวกัน ผลเป็นแบบฝักคู่เชื่อมติดกับฐาน ตีนเป็ด ถือว่าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่งที่ควรทำการศึกษา เนื่องจากเนื้อไม้ของตีนเป็ด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับเป็นไม้ที่ไม่ทิ้งใบทำให้พื้นที่เขียวชะอุ่ม ดินชุ่มชื้น จึงสามารถนำไปปลูกเพื่อช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ดีทั้งยังมีนวทางที่น่าสนใจสำหรับ ผู้ที่จะปลูกเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ เพราะไม้ตีนเป็ดมีผู้สนใจอบถามกันมากในการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการทำดินสอดำในบ้านเรา ตีนเป็ด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 35-40 ม.เรือนยอดของต้นเล็กรูปเจดีย์ ต้นใหญ่ เรือนยอดค่อนข้างแบน โคนต้นมักจะเป็นพูพอนลำต้นเป็นร่องตามยาว เปลือกสีเทาหรือเทาอมเหลือง หรือสีน้ำตาลถึงน้ำตาลแดงค่อนข้างหนาแต่เปราะเรียบหรือแตกเป็นร่องเปลือก ชั้นในสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวไหลมาก

ดอกขนาดเล็กสีขาวอมเขียว ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ปากท่อของกลีบดอกมีขนยาวปุกปุย ผลเป็นฝักกลมยาวเรียวเกลี้ยงและห้อยลงสู่พื้นดิน ฝักออกเป็นคู่ขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ยาว 30-40 ซม. เมล็ดภายในรูปทรงบรรทัดแคบ ๆ ยาวประมาณ 7 มม. มีขนยาวอ่อนนุ่มปุกปุยติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง เมื่อฝักแก่จะแตกออกเมล็ดซึ่งมีขนจะปลิวกระจายไป ตามลม ระยะเวลาการเป็นดอกผล ดอกเริ่มบานประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม และจะเริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม ลักษณะเนื้อไม้มีมีแก่น เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ แต่สม่ำเสมอค่อนข้างเหนียว เนื้ออ่อนไสกบตบแต่งง่ายมาก ความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.41
การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม้ตีนเป็ดมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะการขึ้น มักกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ กัน ไม่พบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ มักไม่พบลูกไม้บริเวณใต้ลำต้นหรือใกล้เคียงต้นแม่ในป่าธรรมชาติ มักพบอยู่ในบริเวณป่าที่ราบบริเวณป่าพง และริมลำห้วยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นอยู่ตามริมห้วยในป่าเบญจพรรณ ไม่พบไม้ตีนเป็ดในป่าเต็งรังหรือบริเวณป่าที่สูงในป่าดงดิบทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ จะขึ้นทั่วไปตามชายป่าพรุ และในป่าที่ลุ่มตั้งแต่ระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,000 ม. ซึ่งสามารถพบเห็นได้ประปราย 2 ข้างถนนหลวง ในต่างประเทศพบที่อินเดียว จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และควีนแลนด์
อ่านเนื้อหาแล้ว มาฟังผู้เชี่ยวชาญหน่อยว่าเป็นอย่างไร
ขอขอบคุณรายการคลินิกเกษตร ทางทีวีไทย