๐ กำเนิดนางสิริมา
ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่าเวสาฬี เป็นเมืองที่มั่งคั่งกว้างใหญ่ไพศาล มีประชาชนมากมาย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร การค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีพ่อค้าต่างเมืองเดินทางมาติดต่อค้าขายอย่างคับคั่ง และหนึ่งในความเสื่อม แต่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองคือ มีหญิงงามเมืองที่มีความงดงาม ชื่อว่า อัมพปาลี
นางเป็นสตรีผู้เลอโฉม มีผิวพรรณผุดผ่องเฉิดฉายยิ่งนัก น่าดู น่าพอใจ และนางยังเป็นผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมซึ่งประกอบไปด้วย การฟ้อนรำ และการขับร้อง ซึ่งหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ยาก บุคคลทั้งหลายที่มีความต้องการพานางไปร่วมอภิรมย์ด้วย จะต้องจ่ายค่าตัวคืนละห้าสิบกหาปณะ
ครั้งหนึ่งพวกพ่อค้าชาวกรุงราชคฤห์ได้ไปทำธุรกิจที่เมืองเวสาฬี ก็คิดว่าเมืองเวสาฬีนี้รุ่งเรืองงดงามเพราะมีนางอัมพปาลีเป็นหญิงงามเมือง
เพราะมีนางอัมพปาลีนี่แหละที่เวสาฬี พ่อค้าจึงเข้าใจว่าจึงทำให้มีคนต่างเมืองหลั่งไหลกันเข้ามามากมาย เพราะได้ยินกิตติศัพท์ของนางอัมพปาลี ทำให้ธุรกิจการค้าทางด้านอื่นๆ เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย
พ่อค้ากลุ่มนั้นจึงพากันเข้ามากราบถวายบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสารถึงอานุภาพความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเวสาฬีให้ทราบว่าเวสาฬีนี้เจริญรุ่งเรืองมาก แล้วกราบถวายบังคมว่า
“เมืองเวสาฬีมีนางอัมพปาลี เมืองราชคฤห์ของเราควรจะมีหญิงงามเมืองอย่างเธอบ้าง”
ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จงไปดูว่ากุมารีคนไหนที่มีลักษณะงดงาม และมีคุณสมบัติเช่นนั้น แล้วตั้งให้นางเป็นหญิงงามเมืองเถิด
ในขณะนั้นในเมืองราชคฤห์มีกุมารีคนหนึ่งชื่อ สารวดี นางเป็นหญิงผู้เลอโฉมสะคราญตา น่าเสน่หา ทั้งเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก
พวกพ่อค้าชาวกรุงราชคฤห์เหล่านั้น จึงได้ตั้งนางสารวดีกุมารีเป็นหญิงงามเมืองกลางกรุงราชคฤห์
เมื่อนางสารวดีได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว นางจึงฝึกฝนการฟ้อนรำขับร้อง ดีด สี ตี เป่า จนมีความชำนาญ ทำให้นางมีค่าตัวคืนละหนึ่งร้อยกหาปณะ
นางสารวดีประกอบอาชีพเป็นหญิงงามเมืองได้ไม่นานก็เกิดความประมาท ขาดการระมัดระวังตัว จึงตั้งครรภ์
นางสารวดีได้ปกปิดเรื่องการตั้งครรภ์ของเธอไว้ได้จนถึงกำหนดคลอด ในวันคลอด ทันทีที่นางทราบว่า บุตรที่คลอดออกมาเป็นชาย นางก็ตัดสินใจที่จะให้คนนำบุตรของนางไปทิ้งเสียแต่วันนั้น เพราะมีความคิดเห็นว่าบุตรชายไม่สามารถสืบทอดอาชีพโสเภณีได้
นางได้สั่งให้สาวใช้คนสนิท นำลูกชายของตนใส่ในกระด้งเก่าๆ นำไปทิ้งที่กองขยะ กำชับให้ระวังไม่ให้ใครรู้เห็น สาวใช้ก็ทำตามคำสั่งทุกประการ เวลาที่นำทารกไปทิ้งนั้นก็เป็นเวลากลางดึก
ในเช้าวันนั้นเอง เจ้าชายอภัย พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร กำลังเสด็จเข้าเฝ้าพระราชบิดา ได้เสด็จผ่านมาทางนั้น ได้เห็นฝูงการุมล้อมเด็กนั้นอยู่ จึงได้ตรัสถามมหาดเล็กว่า
“ฝูงการุมล้อมอะไร”
มหาดเล็กจึงรีบเข้าไปดู เห็นทารกเพศชายอยู่ในกระด้ง จึงถือกลับมาแล้วกราบทูลให้ทรงทราบว่า
“ฝูงกากำลังรุมล้อมทารกเพศชายอยู่พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยจึงถามมหาดเล็กว่า
“ทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า”
มหาดเล็กจึงกราบทูลว่า
“ทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยเมื่อทราบว่าทารกยังมีชีวิต จึงรับสั่งให้นำทารกกลับไปที่วังของตน แล้วนำให้แม่นมเลี้ยงดูอย่างดี
ต่อมาภายหลัง ทารกนั้นเมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ศึกษาวิชาแพทย์จนเชี่ยวชาญ และก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์หลวงประจำสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร นามว่าชีวกโกมารภัจ แปลว่า กุมารที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงไว้
ต่อมาภายหลังนางสารวดีก็ได้ตั้งครรภ์อีก แต่ได้คลอดออกมาเป็นธิดา เธอก็ดีใจสุดขีด นางจึงได้เลี้ยงเอาไว้สืบทอดตระกูลหญิงงามเมืองของตน แล้วตั้งชื่อลูกหญิงของตนว่า สิริมา แปลว่า นางผู้มีสิริ
นางสิริมาเมื่อเติบโตขึ้นมา ก็ได้เป็นหญิงมีรูปงามมาก เป็นที่ปรารถนาของชายหนุ่มทั้งหลาย จึงได้รับตำแหน่งสืบทอดกิจการจากนางสารวดีผู้เป็นมารดาของเธอ
เธอต้องคอยรับแขกที่มีทรัพย์ประเภทตระกูลกษัตริย์ เศรษฐี หรือพวกอำมาตย์ โดยมีค่าบริการวันละหนึ่งพันกหาปณะ
๐ นางสิริมา หญิงโสเภณีผู้บรรลุโสดาบัน
เนื่องจากนางมีรูปร่างงดงาม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศิลปะอันเป็นวิชาชีพ จึงมีพวกบุรุษทั้งหลายรับนางไปบำเรอและสมสู่ด้วยโดยจ่ายทรัพย์ให้นางเป็นค่าตอบแทนตามราคาที่นางกำหนดไว้ นางสิริมาจึงร่ำรวยด้วยอาชีพเช่นนั้น ทั้งต่อมา นางสิริมาผู้นี้ยังบรรลุคุณธรรมพิเศษคือโสดาปัตติผลอีกด้วย นางสิริมาผู้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว พร้อมด้วยหญิงบริวารจำนวน ๕๐๐ คน ต่างประกาศตนเป็นเป็นอุบาสิกาผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
นางสิริมาหลังจากได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นโสดาบันแล้ว ได้ทูลอาราธนาพระทศพลเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายมหาทานอันโอฬารและประณีตตั้งแต่นั้นมา และได้ถวายอาหารแก่ภิกษุวันละ ๘ รูปเป็นประจำ นางได้เอาใจใส่สั่งคนรับใช้ให้ทำของประณีตถวายสงฆ์ ใส่ให้จนเต็มบาตรทุกรูป อาหารที่พระรูปเดียวรับมาจากบ้านของนาง พอเลี้ยงพระถึง ๓ หรือ ๔ รูป
ต่อมาวันหนึ่งภิกษุรูปหนึ่งไปรับอาหารที่บ้านของนางสิริมาแล้วกลับมา ตกตอนเย็นนั่งสนทนากับเพื่อนภิกษุด้วยกัน รูปหนึ่งถามขึ้นว่า
“อาวุโส วันนี้ท่านไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านใด”
“ที่บ้านของนางสิริมา” ท่านตอบ
“อาหารดีไหม”
“ดีมาก ดีจนพูดไม่ถูก ปริมาณก็มากด้วย อาหารที่นางถวายแก่ข้าพเจ้านั้นแจกจ่ายแก่เพื่อนๆ ได้ถึง ๓ หรือ ๔ รูป แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า นางสวยเหลือเกิน การได้มองดูนางดีกว่าไทยธรรมของนางซะอีก ท่านลองคิดดูเถอะว่า จะเลิศสักปานใด ปาก จมูก คอ มือ เท้าของนางดูงามละเมียดละไมไปหมด”
ภิกษุรูปนั้นได้ฟังเพื่อนเล่าดังนี้ ก็กระหายใคร่จะได้เห็นนางสิริมาบ้าง จึงถามถึงลำดับของตนว่าจะได้ไปเมื่อใด ก็ทราบว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นลำดับของตนดีใจมาก
วันรุ่งขึ้นเมื่ออรุณยังไม่ทันเบิกฟ้า ท่านก็รีบเข้าไปที่โรงสลาก ได้เป็นหัวหน้าพระอีก ๗ รูปไปสู่บ้านของนางสิริมาเพื่อรับอาหาร แต่ว่าบังเอิญนางสิริมาได้ล้มป่วยลงโดยกระทันหันตั้งแต่เมื่อวันวาน จึงได้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ที่สวยงามออกแล้วนอนซมอยู่ เมื่อเวลาพระมาถึง นางได้สั่งสาวใช้ให้จัดแจงให้เรียบร้อยเหมือนอย่างที่นางเคยทำเอง คือนิมนต์ให้พระคุณเจ้านั่งแล้วเอาบาตรไปบรรจุโภชนะให้เต็ม แล้วถวายข้าวยาคู หรือข้าวสวยแก่พระคุณเจ้า หญิงรับใช้ได้ทำตามที่นางสั่งไว้ทุกประการ เสร็จแล้วบอกให้นางทราบ นางจึงขอร้องให้หญิงรับใช้ช่วยกันประคองนางออกไปเพื่อไหว้พระคุณเจ้าทั้งๆ ที่กำลังจับไข้อยู่ ตัวของนางจึงสั่นน้อยๆ
ภิกษุรูปนั้นเมื่อเห็นนางสิริมาแล้ว ตะลึงในความงามพลางคิดว่า
“โอ้ กำลังจับไข้อยู่ ยังงามถึงปานนี้ ในเวลาไม่เจ็บป่วย ประดับประดาด้วยสรีราภรณ์อันอลังการสวยงาม นางนี้จะมีรูปสมบัติที่เลิศสักปานใดหนอ” ขณะนั้นเองกิเลสที่ท่านเคยสั่งสมไว้หลายโกฏิปีก็ฟูขึ้นประหนึ่งถูกแรงลม ท่านนั้นมีจิตใจจดจ่อแต่สิริมาไม่สามารถฉันอาหารใดๆ ได้เลย กลับสู่วิหารแล้วปิดบาตรไว้โดยมิได้แตะต้อง เอาจีวรคลุมศรีษะนอนรำพึงถึงแต่สิริมาด้วยความหลงใหล
ภิกษุผู้เป็นสหายกันทราบความนั้น พยายามชี้แจงและอ้อนวอนให้ท่านฉันอาหาร แต่ก็ไร้ผลจึงอดอาหารไปทั้งวัน และเย็นวันนั้นเองนางสิริมาก็ตาย
พระเจ้าพิมพิสารให้ราชบุรุษไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า บัดนี้นางสิริมาน้องสาวของหมออาชีวกตายเสียแล้ว พระศาสดาทรงทราบเรื่องการตายของนางสิริมา และทรงทราบเรื่องภิกษุผู้หลงใหลในรูปของนางสิริมานั้นด้วย ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จักแสดงสัจธรรมบางประการ และทรงเห็นอุบายที่จะสอนภิกษุรูปนั้น และประชาชนทั้งหลายให้ได้ทราบความเป็นไปแห่งชีวิต จึงทรงรับสั่งถึงพระราชาพิมพิสารว่า ขอให้รักษาศพของนางสิริมาไว้ในป่าช้าผีดิบ อย่าให้กาและสุนัขเป็นต้นกัดกิน พระราชาทรงทราบแล้วทรงทำตามพุทธบัญชาเพราะทรงแน่พระทัยว่า พระศาสดาจะต้องทรงมีพระอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน
๓ วันล่วงไปตามลำดับ ในวันที่ ๔ สรีระนั้นก็ขึ้นพอง น้ำเน่าได้ไหลเหยิ้มไปทั่วร่างกาย สรีระทั้งสิ้นได้แตกปริออกเน่าและเหม็นผุพัง
พระราชาได้ให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองประกาศทั่วพระนครว่า เว้นแต่เด็กกับคนชราเฝ้าเรือนเท่านั้น นอกนั้นถ้าใครไม่ไปดูนางสิริมาจะถูกปรับ ๘ กหาปณะ แล้วทรงส่งข่าวไปถึงพระผู้มีพระภาค หากพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์จะดูนางสิริมาด้วยก็จะเป็นการดี พระศาสดาตรัสบอกพระภิกษุทั้งหลายว่า จะเสด็จไปดูศพนางสิริมาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก
ภิกษุรูปนั้นพอทราบว่าพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จะไปดูนางสิริมาเท่านั้น แม้จะอดอาหารมาตั้ง ๔ วันแล้ว ก็รีบลุกขึ้นทันที เอาอาหารที่บูดเน่าในบาตรนั้นทิ้ง เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้วเอาใส่ถุงบาตรไปกับภิกษุทั้งหลาย
พระศาสดาผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง แม้ภิกษุณีสงฆ์ ราชบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทก็ยืนอยู่ข้างหนึ่งๆ
พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า “มหาบพิตรร่างนั้นคือใคร”
“นางสิริมาพระเจ้าข้า” พระราชาตรัสตอบ
“นางสิริมาหรือนั่น” พระพุทธองค์ทรงถามซ้ำ
“พระเจ้าข้า” พระราชาทูลตอบ
“มหาบพิตรถ้าอย่างนั้นขอให้พระองค์ยังราชบุรุษเที่ยวประกาศไปในพระนครว่า ถ้าใครให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ก็จงมารับนางสิริมาไป”
พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น ราชบุรุษเที่ยวประกาศทั่วพระนคร ไม่มีใครเลยที่จะรับนางสิริมาเป็นของตน ราชบุรุษประกาศลดราคาลงตามลำดับ ในที่สุดประกาศให้เปล่าก็ไม่มีใครรับ พระราชาทูลความทั้งปวงให้พระศาสดาทรงทราบแล้ว
พระผู้เจนจบรู้แจ้งแล้วซึ่งโลกและธรรมทั้งปวงทอดพระเนตรภิกษุทั้งมวลแล้วตรัสว่า
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ดูสตรีอันเป็นที่รักที่พอใจของคนเป็นอันมาก เมื่อก่อนนี้ให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะแล้ว ให้อยู่ร่วมด้วยนางสิริมาเพียงวันเดียวคนทั้งหลายก็แย่งกัน แต่บัดนี้เวลาล่วงไปเพียง ๕-๖ วันเท่านั้น ร่างเดียวกันนี้ แม้ให้เปล่าก็ไม่มีใครต้องการ
ภิกษุทั้งหลาย รูปที่มีความงามถึงปานนี้ ถึงแล้วซึ่งความสิ้นและความเสื่อมไปตามธรรมดาของโลกทั้งหลาย รูปนี้เป็นอย่างไร รูปอื่นก็เป็นอย่างนั้น รูปอื่นเป็นอย่างไร รูปนี้ก็เป็นอย่างนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ดูเถิด ดูร่างกายที่เน่าเปื่อยมีกลิ่นเหม็น มีกระดูกเป็นโครงอันเนื้อและเลือดซึ่งเกิดแต่กรรมทำให้วิจิตรแล้ว ร่างกายนี้อาดูร ไม่มีความเที่ยงหรือยั่งยืน แต่คนส่วนมากก็ยังดำริถึงด้วยความกำหนัดพอใจ”
เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงธรรมาภิสมัย คือการรู้ธรรม ได้เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลเป็นอันมาก แม้ภิกษุที่ติดใจร่างกายของนางสิริมายิ่งนัก ก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล
ขอเชิญฟังเสียงบรรยาย ที่นี่
แสดงเจตนา
เรื่องและภาพรวบรวมมาจากอินเตอร์เน็ตที่เจ้าของไม่ได้สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ไว้
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในเจตนากุศลในการเผยแพร่ธรรมทานอย่างบริสุทธิ์ของท่านเหล่านั้น
หากข้อความใดหรือภาพใดมีผู้หวงห้าม ข้าพเจ้าขออภัยและขอบอกกล่าวว่า ไม่มีเจตนาลักขโมยของท่าน
เพียงนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานให้ผู้สนใจทั่วไป และมีเจตนาให้นำไปเผยแพร่ต่อได้
ขอขอบคุณ เรื่องและภาพจากอินเตอร์เน็ต
นายนิคม พวงรัตน์ รวบรวม เรียบเรียง เผยแพร่