ร่างกฎหมายทวงหนี้ฉบับใหม่ล่าสุด
การทวงหนี้จะต้องเป็นไปตามกฎหมายในหัวข้อหลัก ๆ ที่เป็นสาระสำคัญ ดังนี้
1. การทวงหนี้ต้องมีใบอนุญาต ตามมาตรา 5
2. ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ ตามมาตรา 6
3. การทวงหนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7
4. ห้ามข่มขู่คุกคามลูกหนี้ ตามมาตรา 9
5. ห้ามหลอกลวงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 10
6. ห้ามเอาเปรียบลูกหนี้โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมทวงหนี้ ตามมาตรา 11
7. นักทวงหนี้ฝ่าฝืนอาจถูกถอนใบอนุญาตทวงหนี้ได้ ตามมาตรา 24 - มาตรา 28
8. การทวงหนี้ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 29 - มาตรา 34
ดังนั้น หากเจ้าหนี้ บริษัททวงหนี้ทวงหนี้โหด จะต้องติดคุก ถูกปรับ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทวงหนี้
"การข่มขู่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ลูกหนี้จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ การเจรจาหนี้ต้องจบด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน
ของทั้งสองฝ่าย ควรใช้ถ้อยคำสุภาพในการเจรจาหนี้"
อวสานนักทวงหนี้
“นักทวงหนี้อาจจะมีน้อยลง ผมยังไม่แน่ใจว่าจะหายไปเลยมั้ย เพราะการทวงหนี้มันทำได้ยากมากขึ้น”
ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ วิทยากรฝึกอบรมนักทวงหนี้ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ แสดงความเห็น
หลังจากพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีที่จะถึงนี้ โดยเขามองว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบ
ต่อนักทวงหนี้โดยเฉพาะสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบอย่างรุนแรง รูปแบบการทวงหนี้อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง
“จากเดิมที่อาจจะมีใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่น รุนแรง และไม่มีใบอนุญาตทวงหนี้ หรือวันหนึ่งโทรศัพท์หลายๆครั้ง
ถ้ากฎหมายนี้ใช้การทวงหนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปหมด ว่าง่ายๆ ปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องมารยาท การข่มขู่คุกคามคิดค่าทำเนียม
รวมถึงการประจานต้องเปลี่ยนหมด ต้องหยุดเลย”
ในส่วนของค่าปรับต่างๆ นั้น กฎหมายใหม่ก็มีการระบุไว้ถึงอำนาจของคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้
ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในการพิจารณาความเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าทวงหนี้เดือนละ 200 - 500 บาท
หรือค่าสัญญา ค่าล่าช้าต่างๆ
ทั้งนี้ กฎต่างๆที่อยู่ในกฎหมายใหม่นั้น เขาเผยว่า เป็นสิ่งที่ระบุในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทวงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว
เพียงแต่เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้มีบทลงโทษใดๆ แต่กฎหมายที่จะออกใหม่นั้นมีทั้งโทษปรับและจำคุกที่สูงเอามากๆ
และบทลงโทษก็มีคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้แทบทั้งสิ้นอีกด้วย
รายละเอียดในกฎหมายใหม่ก็มีมากมายตั้งแต่การออกใบเสร็จหากไม่ทำก็เป็นโทษปรับถึง 100,000 บาท ทั้งยังมีโทษทางอาญาจำคุก 1 - 5 ป
ี ปรับอีก 100,000 - 400,000 บาท ยังมีข้อห้ามไม่ให้ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาทวงหนี้หรือประกอบธุรกิจทวงหนี้อีกด้วย
“ทุกวันนี้ก็มีทหารตำรวจทนายความเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ แต่กฎหมายใหม่นี้ ทนายความถ้าจะจะประกอบธุรกิจทวงหนี้ก็ต้องไปจดทะเบียน
ส่วนตำรวจ ทหาร ข้าราชการรัฐวิสาหกิจพวกนี้ก็ไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้อีกต่อไป ฉะนั้นพวกซุ้มคนมีสี สีเขียว สีกากีอะไรต่างๆ
ก็ต้องสูญหายไป ถ้าไม่สูญก็ต้องย้ายไปเรือนจำ ธุรกิจพวกนี้จะหายไป พวกทวงหนี้เถื่อนตามตลาดคอนโดรัฐวิสาหกิจ พวกนี้ต้องหายไป
ถ้าจะประกอบธุรกิจทวงหนี้ก็ต้องมีใบอนุญาต”
เมื่อมองในมุมของเจ้าหนี้แล้ว เขามองว่า การทวงหนี้จะเป็นมีความยากมากขึ้นแน่นอน
ทั้งนี้ในปัจจุบันการทวงหนี้นั้นมีปัญหาใหญ่มักจะอยู่ที่การหายตัวไปของลูกหนี้
“อันดับแรกหาตัวยาก ไม่ยอมรับสาย ถูกเลิกจ้างออกจากงานมีหนี้สินจำนวนมาก ส่วนใหญ่พวกลูกหนี้
บัตรเครดิตบัตรกดเงินด่วนเขาจะเป็นหนี้บัตรหลายใบ ฉะนั้นรายจ่ายมากกว่ารายรับ นี่คือปัญหาในปัจจุบัน แต่ปัญหาใหญ่คือตามตัวไม่ได้
เพราะพอเริ่มเป็นหนี้เป็นสินผิดนัดชำระหนี้ก็เริ่มเปลี่ยนเบอร์เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล
หย่ากับสามีย้ายบ้านย้ายคอนโดหนี นี่คือปัญหาใหญ่”
เมื่อมารวมกับกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออก เขามองว่า การทวงหนี้จะยิ่งทำงานยากขึ้น ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน
ก็เสี่ยงจะติดคุกหมด ทวงหนี้ในที่อยู่ที่ลูกหนี้ไม่ได้ให้ไว้ก็ผิด ต้องพยายามติดต่อแล้วไม่ได้ถึงจะติดไปยังที่ทำงานได้
การติดต่อไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ หรือทางโซเชียลมีเดียก็ต้องเป็นภายในเวลาที่กำหนด ห้ามโทรศัพท์หลายครั้งเป็นการรบกวน
และห้ามพูดจาหยามหมิ่นต่อลูกหนี้อีกด้วย
“มันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมากอยู่เหมือนกัน ซึ่งข้อดีมันก็มี มันทำให้การทวงหนี้ดีขึ้น สุภาพขึ้น ไม่มีหมิ่นหยามกัน
เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่มันก็ทำให้การทวงหนี้ยากขึ้น และคงส่งผลให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นอย่างแน่นอน”
“แบงก์ต้องปรับปรุงการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น บางคนต้องเงินเดือนแสนขึ้นไป เขาต้องเข้มข้นในการปล่อยมากขึ้น
ถ้าดูแล้วมีโอกาสเบี้ยวเขาก็จะไม่ปล่อยต้องเน้นการระมัดระวังป้องกันมากกว่าการแก้ไข
ฉะนั้นการเข้าถึงสินเชื่อคงยากขึ้นเพราะทวงหนี้ยาก คดีความต่างๆที่จะไปสู่ศาลก็มากขึ้นด้วย”
ปัจจุบันกรณี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายก็มีอยู่พอสมควรในสังคมไทย เขามองว่า เป็นลูกหนี้ที่ไม่สุจริต
ถึงตอนนี้ก็มีการตั้งเป็นเว็ปไซต์รวมคนไม่ใช้หนี้ด้วย ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของสถาบันการเงินต่างๆได้
“การเป็นหนี้มันต้องใช้หนี้ครับ ถ้าประเทศเรามีการเชิญชวนให้ชักดาบกัน มันก็เสียหายหมดเพราะไม่ว่าใครก็ตามที่มาลงทุน
ไม่ว่าเล็กหรือใหม่เขาก็ประกอบอาชีพสุจริตฉะนั้นไม่ควรเบี้ยวกัน ควรหันมาเจรจากัน ยิ่งกฎหมายใหม่คนทวงก็ต้องพูดจาดีขึ้น
ก็คงทำให้การทวงหนี้มีรูปแบบที่เปลี่ยน มันอาจจะทวงไม่ได้แล้ว อาจจะส่งจดหมายเตือนสัก 2 ครั้งแล้วฟ้องศาลเลย”
รายละเอียดร่างพรบ.ทวงหนี้ฉบับล่าสุด
ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์