บทความ:

โดยปกติ แอลกอฮอล์จากเหล้าแก้วแรกที่เข้าสู่กระแสเลือดของเรา จะพุ่งตรงไปยังระบบประสาทของสมอง และช่วยให้เรารู้สึกร่าเริงมากที่สุด เพราะว่าแม้จะดื่มเหล้าเพียงแก้วเดียว ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้จะกระตุ้นให้สมองผลิตสารเคมีสำคัญที่ช่วยสร้างอารมณ์ครื้นเครง 4 ตัว คือ โดปามีน เซโรโทนิน โอปิออยด์ และแกมมา-อะมิโนบิวไตริก
ดร.พัสการ์ พุนุโกลลุ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการเสพติดทางจิตใจ จากโรงพยาบาลคลินิกพาร์ตเนอร์ และนักวิจัยประจำสถาบันอิสลิงตันแห่งกรุงลอนดอน กล่าวว่า สารทั้ง 4 ตัวนี้จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ร่าเริงครื้นเครง ผ่อนคลาย พร้อมกับลดสติสัมปชัญญะของเราลง
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าแอลกอฮอล์จากเหล้าจะช่วยให้เรารู้สึกดีที่สุดในการดื่มเหล้าแก้วแรกเท่านั้น เนื่องจากสมองไม่สามารถผลิตสารโดปามีน และสารอื่นๆ ได้เท่ากับการดื่มเหล้าแก้วแรก
ดร.พุนุโกลลุอธิบายว่า การรับประทานอาหารรองท้องก่อนดื่มเหล้า จะดูดซับและชะลอการกระจายตัวของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ซึ่งจะลดฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ลง 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มเหล้าโดยไม่มีอะไรรองท้อง ทั้งนี้เขาแนะนำว่าการผสมเหล้ากับน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ก็ช่วยชะลอการดูดซับแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน

พอล วอลเลส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน อธิบายว่า อาการอยู่ไม่สุขและต้องลุกขึ้นมาเต้นรำกันเมื่อทานเหล้าไปได้ระยะหนึ่ง เกิดจากแอลกอฮอล์เข้าไปรบกวนการทำงานของเปลือกสมอง ซึ่งเป็นส่วนทำหน้าที่ประมวลข้อมูล และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้แย่ลง รวมถึงสูญเสียการทรงตัว และมีความรู้สึกช้าลง
ดร.พุนุโกลลุชี้แจงว่า หากเรายังคงดื่มเหล้าต่อจากจุดนี้ ตับของเราจะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม เพื่อดูดซับและกำจัดแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ร่างกาย แต่หากตับไม่สามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้ทัน ก็จะทำให้แอลกอฮอล์มากระจุกตัวในที่เดียวกันมากเกินไป จนทำให้เรารู้สึกวิงเวียนศีรษะ และคลื่นไส้ในที่สุด
แอลกอฮอล์ยังมีผลต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส และเซปตัม ซึ่งทำหน้าที่ด้านการตอบสนองทางอารมณ์ และจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เป็นความทรงจำในสมอง เป็นเหตุผลว่า ทำไมเมื่อคนเราดื่มเหล้าจึงมีอารมณ์รุนแรงผิดปกติ หรือไม่สามารถจดจำอะไรได้ในวันถัดมา
ศจ.วอลเลสเตือนว่า หากต้องเปลี่ยนเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มระดับความเมา เราควรดื่มเหล้าที่มีความบริสุทธิ์สูงแทน เช่น วอดก้า เนื่องจากแอลกอฮอล์ของเหล้าประเภทที่มีสีในตัวเองเช่น วิสกี้หรือบรั่นดี จะตกค้างในร่างกายได้นานถึง 24 ชั่วโมง
หากดื่มเหล้าเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง สมองจะเริ่มส่งสัญญาณการรักษาชีวิตตนเอง ทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่ดีต่อปริมาณแอลกอฮอล์ที่ร่างกายได้รับ รวมถึงเริ่มเกิดความรู้สึกง่วงขึ้นมา

ดร.มาร์ติน ปรินซ์ จากโรงพยาบาลอเล็กแซนดรา เมืองเชชเชอร์ กล่าวว่า โดยปกติคนที่มีร่างกายใหญ่ โดยเฉพาะผู้ชาย หรือผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ จะสามารถกำจัดแอลกอฮอล์ในร่างกายได้รวดเร็วกว่าผู้หญิง เนื่องจากตับสามารถผลิตเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการกำจัดแอลกอฮอล์ ในทางกลับกันผู้หญิงมีปริมาณไขมันในร่างกายสูงกว่าผู้ชาย ทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำสำหรับบรรเทาฤทธิ์เหล้าได้น้อยกว่า
ดร.จอห์น เดอ เคสเต็กเกอร์ แพทย์ด้านระบบย่อยอาหารแห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเมืองไลเซสเตอร์ แนะนำว่า การรับประทานข้าวแกงกะหรี่ ช่วยลดผลกระทบจากการดื่มเหล้าได้ เนื่องจากจะช่วยให้ตับอ่อนเราผลิตอินซูลินมากำจัดแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารหนักๆ หลังดื่มเหล้าก็อันตรายเช่นกัน ดร.เดอ เคสเต็กเกอร์ เตือนว่า หากเราอ้วกหลังรับประทานอาหารหนัก อาจทำให้หูรูดกระเพาะและหลอดอาหารฉีกขาดได้ เขาอธิบายว่า โดยปกติสมองจะสั่งให้หลอดอาหารขยายตัวตามการอ้วก แต่แอลกอฮอล์ที่เข้าไปรบกวนการทำงานของสมอง อาจส่งผลให้หลอดอาหารทำงานไม่สัมพันธ์กัน
นอกจากการดื่มเหล้าเพียงแก้วเดียว จะทำให้เรามีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว อาการปวดศีรษะหลังสร่างเมายังมีผลมาจากอาการขาดน้ำในร่างกาย เพราะตับจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นกรดน้ำส้ม ในระหว่างกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากเลือด
ยิ่งไปกว่านั้น การเข้านอนหลังดื่มเหล้าปริมาณมากยังทำให้เรานอนหลับไม่เต็มที่เช่นกัน เนื่องจากเมื่อเราเข้านอน แม้ผลข้างเคียงของเหล้าจะช่วยให้เรานอนหลับอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่สามารถหลับสนิทได้ อีกทั้งร่างกายของเราพยายามกำจัดแอลกอฮอล์ออก จนเราอาจต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะทั้งคืน
เช้าวันถัดมา เราจะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติเพราะร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำตาล แอซมินา โกวินดีย์ นักโภชนาการ แนะนำว่า เราสามารถแก้ไขอาการนี้ได้ด้วยการทานช็อกโกแลต แต่เธอเตือนว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาจทำให้เราปวดท้องแทน เพราะกระเพาะทำงานหนักต่อเนื่องหลังดื่มเหล้า
ดร.ปรินซ์อธิบายว่า อาการเหนื่อยล้าหรือเมาค้างตลอดทั้งวัน เป็นเพราะเราเพิ่งจะรู้สึกถึงการทำงานของตับ

ไต และอวัยวะภายในที่พยายามกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ประกอบกับอาการและผลข้างเคียงจากอาการขาดแอลกอฮอล์ จะเริ่มแสดงผลออกมาเมื่อแอลกอฮอล์ในร่างกายเริ่มลดลง
ทั้งนี้ ดร.เดอ เคสเต็กเกอร์ ชี้ว่า อาการเมาค้างอาจมีผลยาวนานถึง 2 วันหลังดื่มเหล้า แต่เขาเตือนว่าผู้ที่ไม่มีอาการเมาค้างในวันถัดมา เพราะดื่มหนักเป็นประจำจนชิน ไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจากอาการเมาค้างชี้ว่า ระบบเตือนภัยต่างๆ ของร่างกายเรายังทำงานปกติอยู่.
แสดงเจตนา
เรื่องและภาพรวบรวมมาจากอินเตอร์เน็ตที่เจ้าของไม่ได้สงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ไว้
ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในเจตนากุศลในการเผยแพร่ธรรมทานอย่างบริสุทธิ์ของท่านเหล่านั้น
หากข้อความใดหรือภาพใดมีผู้หวงห้าม ข้าพเจ้าขออภัยและขอบอกกล่าวว่า ไม่มีเจตนาลักขโมยของท่าน
เพียงนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานให้ผู้สนใจทั่วไป และมีเจตนาให้นำไปเผยแพร่ต่อได้
ขอขอบคุณ เรื่องและภาพจากอินเตอร์เน็ต
นายนิคม พวงรัตน์ รวบรวม เรียบเรียง เผยแพร่